หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551

หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551
สู่หลักสูตรสถานศึกษา

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จัดทำขึ้นเพื่อให้เขตพื้นที่การศึกษา หน่วยงานระดับท้องถิ่นและสถานศึกษาทุกสังกัดที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้นำไปใช้เป็นกรอบและทิศทางในการพัฒนาหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยทุกคนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กระทรวงศึกษาธิการ 2551 : 3)
ปัญหาของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ในเรื่อง ปัญหาความสับสนของผู้ปฏิบัติระดับสถานศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา สถานศึกษาส่วนใหญ่กำหนดสาระการเรียนรู้และผลการเรียนรู้ที่คาดหวังไว้มาก ทำให้เกิดปัญหาหลักสูตรแน่น การวัดและประเมินผลไม่สะท้อนมาตรฐาน ส่งผลต่อปัญหาการจัดทำเอกสารหลักฐานทางการศึกษา และ การเทียบโอนผลการเรียน รวมทั้งปัญหาคุณภาพของผู้เรียนในด้านความรู้ ทักษะ ความสามารถและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ (กระทรวงศึกษาธิการ 2551 : 1) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 นอกเหนือจากการกำหนดวิสัยทัศน์ หลักการ จุดหมาย สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์ มาตรฐานการเรียนรู้แล้วยังได้ให้รายละเอียดในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน มาตรฐานการเรียนรู้ระบุสิ่งที่ผู้เรียนพึงรู้และปฏิบัติได้ มีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ ที่ต้องการให้เกิดแก่ผู้เรียน เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน นอกจากนั้น มาตรฐานการเรียนรู้ยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ เพราะมาตรฐานการเรียนรู้จะสะท้อนให้ทราบว่าต้องการอะไร ต้องสอนอะไร จะสอนอย่างไร และประเมินอย่างไร รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษา รวมถึงการกำหนดตัวชี้วัดระบุสิ่งที่ผู้เรียนพึงรู้และปฏิบัติได้ รวมทั้งคุณลักษณะของผู้เรียนในแต่ละระดับชั้น ซึ่งสะท้อนถึงมาตรฐานการเรียนรู้ มีความเฉพาะเจาะจงและมีความเป็นรูปธรรม นำไปใช้ในการกำหนดเนื้อหา จัดทำหน่วยการเรียนรู้ จัดการเรียนการสอน และเป็นเกณฑ์สำคัญสำหรับการวัดและประเมินผล เพื่อตรวจสอบคุณภาพผู้เรียน
- ตัวชี้วัดชั้นปีเป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนแต่ละชั้นปีในระดับการศึกษาภาคบังคับ (ป.1- ม.3)
- ตัวชี้วัดช่วงชั้นเป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4 – ม.6)
จากรายละเอียดต่าง ๆ ของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานดังที่กล่าวมา สถานศึกษาสามารถนำเป็นแนวทางในการจัดทำหลักสูตรของสถานศึกษาที่สนองตอบต่อหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และเพิ่มเติมในส่วนที่เป็นความต้องการของท้องถิ่นโดยมีองค์ประกอบดังนี้
1. ส่วนนำ (วิสัยทัศน์ พันธกิจ จุดหมาย คุณลักษณะอันพึงประสงค์ สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน)
2. การจัดทำโครงสร้างหลักสูตร (รายวิชาพื้นฐาน รายวิชาเพิ่มเติม กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เวลาเรียน
ระดับประถมศึกษา (ป.1 – ป.6) (รายปี)
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1 – ม.3) (รายภาค)
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4 – ม.6) (รายภาค)
โครงสร้างหลักสูตรเป็นการนำเสนอโครงสร้างหลักสูตรของโรงเรียนในแต่ละระดับชั้น สนองตอบต่อหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และความเป็นท้องถิ่นทั้งในระดับเขตพื้นที่การศึกษา และระดับสถานศึกษาที่สะท้อนการบริหารจัดการหลักสูตร เวลาเรียนในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน สาระการเรียนรู้ท้องถิ่นเพิ่มเติม หรือ การจัดรายวิชาเพิ่มเติมตามความต้องการของโรงเรียน
3. การจัดทำคำอธิบายรายวิชา (รหัสวิชา ชื่อรายวิชา กลุ่มสาระการเรียนรู้ระดับชั้น เวลาเรียน รายละเอียดคำอธิบายรายวิชา
3.1 ศึกษามาตรฐานการเรียนรู้
3.2 ศึกษาตัวชี้วัดชั้นปี (ป.1 – ม.3)
3.3 ศึกษาตัวชี้วัดช่วงชั้น (ม.4 – ม.6)
3.4 ศึกษาสาระการเรียนรู้แกนกลาง
3.5 ศึกษากรอบสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นเพิ่มเติมของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครปฐม เขต 2 และโรงเรียน
3.6 ศึกษาการลงรหัสรายวิชาทั้งพื้นฐาน และเพิ่มเติม
ประมวลจัดทำคำอธิบายรายวิชา แยกตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ อันประกอบไปด้วย ส่วนของสาระการเรียนรู้ กระบวนการจัดการเรียนรู้และคุณลักษณะที่เกิด (คุณภาพผู้เรียนตามหลักสูตร)
4. เกณฑ์การจบหลักสูตร
5. การจัดทำหน่วยการเรียนรู้
5.1 โครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา
5.2 มาตรฐานการเรียนรู้ / ตัวชี้วัด
5.3 สาระการเรียนรู้
ดำเนินการจัดหน่วยการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ครอบคลุมหลักสูตรแกนกลางและสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นเพิ่มเติม
6. การออกแบบการเรียนรู้ที่อิงมาตรฐาน
6.1 ตัวชี้วัด
6.2 สาระการเรียนรู้ทั้งแกนกลางและท้องถิ่น
6.3 ชิ้นงาน / ภาระงาน
6.4 เกณฑ์การประเมิน
6.5 ชื่อหน่วยการเรียนรู้
6.6 เวลาเรียน
ดำเนินการออกแบบการเรียนรู้ที่อิงมาตรฐานการเรียนรู้ (แผนการจัดการเรียนรู้) ประกอบไปด้วย มาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด สาระสำคัญ สาระการเรียนรู้ (ความรู้ ทักษะ/กระบวนการ คุณลักษณะอันพึงประสงค์) ชิ้นงาน/ภาระงาน เกณฑ์การประเมินชิ้นงาน กิจกรรมการเรียนรู้ (นำเข้าสู่บทเรียน ช่วยพัฒนาผู้เรียน รวบยอด สื่อการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล บันทึกผลหลังสอน)
7. คู่มือการวัดและประเมินผลระดับสถานศึกษา
7.1 การประเมินในระดับชั้นเรียน ประเมินความก้าวหน้าโดยใช้วิธีการอย่างหลากหลาย
7.2 การประเมินในระดับสถานศึกษา ตัดสินผลการเรียนรู้รายปี / รายภาค การอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียนตลอดจนคุณลักษณะอันพึงประสงค์และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
การดำเนินการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งโรงเรียนนำร่องและพร้อมใช้ใช้ในปีการศึกษา 2552 โรงเรียนทั่วไปใช้ใน ปีการศึกษา 2553 จะเห็นได้ว่า เป็นการทบทวนหลักสูตรสถานศึกษาเดิม โดยจัดทำโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา จัดทำคำอธิบายรายวิชา โดยประมวลจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษา ขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่น และสถานศึกษาพิจารณาเพิ่มเติม ในส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน / ท้องถิ่นที่ต้องการพัฒนาเป็นพิเศษ


เอกสารอ้างอิง
กระทรวงศึกษาธิการ 2551. หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กรุงเทพฯ
โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
http://www.sunpt2.net/article/teerapong02.doc

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น